ว่าด้วยสุนทรียสนทนา (On Dialogue) พิมพ์ครั้งที่ ๒ (ปี 2567)

Original price was: 220 ฿.Current price is: 198 ฿.

ว่าด้วยสุนทรียสนทนา (On Dialogue)

เขียน: เดวิด โบห์ม (David Bohm)
แปล: เพชรรัตน์ พงษ์เจริญสุข
ISBN: 978-616-481-007-5
ราคาปก 220 บาท
พิมพ์ครั้งที่ 2 (พิมพ์ซ้ำ)/2567

ว่าด้วยสุนทรียสนทนา (On Dialogue) ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ 1996 และล่าสุดได้ตีพิมพ์ซ้ำ (2006) อีกครั้งโดยมีปีเตอร์ เซงเก้เขียนคำนำให้ เดวิด โบห์มเป็นนักฟิสิกส์นามอุโฆษที่อยู่ในยุคเดียวกับอัลเบิร์ต ไอสไตน์ และนีลส์ บอร์ เขาเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้เผยแพร่ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ในขณะเดียวกันก็สนใจค้นหาศึกษาธรรมชาติของความจริงอย่างลึกซึ้งด้วย โบห์มได้รับอิทธิพลแนวคิดเรื่อง “สุนทรียสนทนา” (Dialogue) มาจากกฤษณมูรติและองค์ทะไลลามะ ‘Bohmian Dialogue’ หรือ ‘สุนทรียสนทนาแบบโบห์ม’ ที่เขานำมาถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างงดงาม จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์และแนวคิดเรื่องการเชื่อมโยงธรรมชาติของความจริงแท้

สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการช่วยให้เราหันกลับมาพินิจพิเคราะห์สภาวะจิตใจ และฝึกที่จะฟังเสียงด้านในของตัวเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงสู่สังคมในการทำความเข้าใจผู้อื่น สุนทรียสนทนานับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาคลี่คลายปัญหาปัจจุบันของโลก เพราะเมื่อมนุษย์สามารถเรียนรู้ใจตนเองได้อย่างถ่องแท้ ก็จะมีศักยภาพเข้าใจผู้อื่นได้

ว่าด้วยสุนทรียสนทนา แบ่งออกเป็น 7 บท โดยบทที่ 1 ผู้เขียนชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างสุนทรียสนทนาและกาพูดคุยสื่อสารที่เรากันทั่วไปในชีวิตประจำวัน บทที่ 2 พูดถึงหลักการของการทำสุนทรียสนทนา จากนั้นโบห์มจะพาเราไปทำความเข้าใจกับธรรมชาติของความคิด ที่ไม่ได้มองเฉพาะแง่ของสมองเพียงอย่างเดียว หากแต่มองลึกลงไปในมิติของจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นด้านที่วิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ บทที่ 4 พูดถึงปัญหาและข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการทำสุนทรียสนทนา บทที่ 5 โบห์มให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจสิ่งภายนอกผ่านการมองของเรา (สิ่งที่ถูกสังเกต) พร้อมๆ ไปกับการย้อนกลับมาทำความเข้าใจความรู้สึกของเราเอง (ผู้สังเกต) บทต่อมาผู้เขียนชี้ให้เห็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของสุนทรียสนทนา นั่นคือการไม่ตัดสินก่อน หรือการระงับยับยั้ง (suspension) เพื่อนำไปสู่การรับฟังอย่างลึกซึ้งขึ้นระหว่างผู้ร่วมสนทนา ก่อนจะสรุปส่งท้ายในบทที่ 7 ว่าทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน ไม่มีสิ่งใดแยกส่วนจากกัน

ว่าด้วยสุนทรียสนทนา เชิญชวนให้เรากลับมาใคร่ครวญตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารอย่างจริงจัง เพราะการสื่อสารคือหัวใจหลักอย่างหนึ่งของการมีสังคม เมื่อไรที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ที่จะสื่อสารกันอย่างเปิดใจกว้าง เมื่อนั้นเราก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใน (transformation) และจะก่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่ (new consciousness) ในการมองโลกได้หากเราฝึกกระทำอย่างต่อเนื่อง

 

ตัวอย่างเนื้อหา


เดวิด โบห์ม (David Bohm)
เดวิด โบห์ม (David Bohm)

เดวิด โบห์ม (David Bohm) (1917-1992)

เป็นนักวิทยาศาสตร์ควอนตัมฟิสิกส์และนักทฤษฏีที่ทั่วโลกให้การยอมรับ นับเป็นหนึ่งในนักคิดที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดในครึ่งหลังศตวรรษที่ 20

โบห์มเป็นบุตรชายของผู้อพยพชาวยิว ได้รับการศึกษาในสหรัฐฯ และสนใจกิจกรรมด้านสันติภาพจนถูกมองว่าเป็นพวกเอียงซ้าย ร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ของเขาถูกนำมาใช้พัฒนาสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรก แต่เขากลับถูกกีดกันออกจากการวิจัยครั้งนั้นเนื่องจากจุดยืนทางการเมือง และเขายังถูกกลั่นแกล้งจากพวกเอียงขวาที่เคลื่อนไหวต่อต้านคอมมิวนิสต์ จนต้องย้ายครอบครัวไปอยู่บราซิล และต่อมาก็อิสราเอล จนในที่สุดก็มาตั้งรกรากอยู่ที่อังกฤษ ที่ซึ่งเขาได้ใช้ชีวิตช่วงปั้นปลายผลิตงานเขียนทรงอิทธิพล เขย่าวงการวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มากมายหลายเล่ม เล่มที่ได้รับการกล่าวถึงมากคือ Quantum Theory

โบห์มเป็นนักคิดร่วมสมัยเดียวกับไอน์สไตน์และนีลส์ บอร์ เคยร่วมงานกับไอน์สไตน์ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และด้วยความสนใจในเรื่องการสำรวจจิตและการเติบโตด้านใน ทำให้โบห์มได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะกับกฤษณะมูรติหลายครั้ง นับเป็นกัลยาณมิตรคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของเขาอย่างยิ่ง ทั้งสองยังได้ร่วมเขียนหนังสือ The End of Time และงานในรูปบทสนทนาออกมาอีกหลายเล่ม